เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท กับรถไฟความเร็วสูง ดีเสียอย่างไร มองอย่างเป็นกลาง

เรื่องเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท กับรถไฟความเร็วสูงนั้น เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ค่อนข้างจะไร้ความเป็นกลางในสังคมไทย
เสื้อแดงบอกว่ากู้ 2.2 ล้านล้านบาทดีแน่นอนไม่ได้มีอะไรเสียเลย ส่วนเสื้อเหลือง(ตอนนี้ใส่หน้ากาก)บอกว่าคนไทยเป็นหนี้ทั้งชาติไม่ได้มีอะไรดี มีแต่เสีย
วันนี้เลยขอพิมพ์อะไรที่จะพยายามทำให้อ่านง่ายๆ ได้ลองอ่านกันดูครับ ว่าแท้จริงแล้ว รถไฟความเร็วสูงและเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท มีดี มีเสียอย่างไร?

1. เรื่องการใช้หนี้เงินกู้ ที่หลายคนกังขา
การใช้หนี้นั้น รัฐบาลก็ต้องนำรายได้ของรัฐบาล ซึ่งมาจากภาษีประชาชนเป็นหลัก ไปใช้หนี้ครับ
ดังนั้น มองกันผิวเผิน จุดนี้จะเหมือนกับว่าประชาชนต้องเป็นหนี้ตามไปด้วย!! ซึ่งมันก็จริงครับ และจุดนี้คือสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหยิบมาหลอกฝ่ายที่เกลียดรัฐบาล
ทว่า ... อย่าลืมครับ ว่าการกำหนดภาษีที่ประชาชนต้องจ่าย ไม่เกี่ยวกับหนี้ที่รัฐบาลมี!!
ภาษีที่เราต้องจ่าย ขึ้นกับ "รายได้" ของเราครับ เค้าคิดจากฐานเงินได้และหักออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์
  • รายได้เยอะ = จ่ายภาษีเยอะ
  • รายได้น้อย = จ่ายภาษีน้อย หรือไม่ต้องจ่าย
ดังนั้น กรณีที่รัฐบาลจะเก็บภาษีเราได้มากขึ้น ก็คือกรณีที่ "เรามีรายได้เพิ่มขึ้น" นั่นเองครับ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลมีหนี้เพิ่ม ก็มาเก็บภาษีเพิ่มหรอกนะครับ
สรุปคือ ไม่ว่าจะยังไง รัฐบาลจะหนี้สินอีรุงตุงนังแค่ไหน เราก็เสียภาษีเท่าเดิมถ้ารายได้เราเท่าเดิมครับ
และสิ่งที่รัฐบาล "ลงทุน" เอาไว้จากการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ก็คือการทำให้ประชาชน มีรายได้เพิ่มขึ้น!! นั่นเอง
... แต่ถ้าอ่านแค่นี้ ก็อาจจะคิดว่า 2.2 ล้านล้านบาท มีแต่ดีงั้นหรือ? ... อ่านข้อต่อไปครับ ^ ^

2. ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมันจะไปช่วยเรื่องหนี้ 2.2 ล้านล้านบาทจริงหรือ?
ตรงนี้แหละครับ ที่จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า 2.2 ล้านล้านบาท จะอยู่หรือจะรอด
เพราะ!! ไม่เพียงแค่รายได้ต้องเพิ่มขึ้นแล้ว มันต้องเพิ่มมากพอในระดับที่จะเก็บภาษีได้มากขึ้นจนเอาส่วนต่างนั้น ไปใช้หนี้ในแต่ละปีได้!!
ยกตัวอย่างดังนี้ครับ (ตัวเลขสมมุติเพื่อให้เข้าใจง่ายนะครับ)
  • A ปกติ รัฐบาลเก็บภาษีได้ 1,000,000 บาท ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปใช้หนี้อะไร เอาไปพัฒนาประเทศได้เต็มที่เต็มวงเงิน 1,000,000 บาท
  • B รัฐบาลเป็นหนี้ ต้องใช้ปีละ 200,000 บาท ดังนั้นหากรัฐบาลเก็บภาษีได้เท่าเดิมที่ 1,000,000 บาท ก็จะเหลือเงินพัฒนาประเทศเพียง 800,000 บาท
  • C รัฐบาลเป็นหนี้ ต้องใช้ปีละ 200,000 บาท แต่ถ้าเก็บภาษีได้มากกว่าเดิม เป็น 1,300,000 บาท ก็จะเหลือเงินพัฒนาประเทศ 1,100,000 บาท
...
จากข้อ B และ C
จะเห็นว่า ข้อ B แปลว่าขาดทุน!! และข้อ C แปลว่ากำไร!!
ดังนั้น ถ้าประชาชนรายได้มากขึ้น มากพอจะทำให้เก็บภาษีมากกว่าหนี้ที่ต้องชำระรายปี โครงการ 2.2 ล้านล้านบาทจะเป็นโครงการที่ดีมากๆ
แต่ถ้าประชาชนรายได้เท่าเดิม หรือมากขึ้นไม่พอจะเอาภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มไปใช้หนี้ได้ งบพัฒนาประเทศก็จะน้อยลงกว่าเดิมเพราะโดนหักไปใช้หนี้

3. แล้วมีรถไฟความเร็วสูง มันจะทำให้เรามีรายได้ดีขึ้นอย่างไร?
คนที่จะมีรายได้มากขึ้น จะเป็นคนเฉพาะกลุ่มครับ และจะชัดเจนในจังหวัดที่มีเจ้ารถไฟความเร็วสูงนี้ผ่านครับ
เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านค้าต่างๆ คนที่ทำธุรกิจค้าขายแทบทุกประเภทในจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูง กลุ่มนี้น่าจะรายได้มากขึ้นชัดเจน ไม่น่าจะถึงกับคนไทยทั้งประเทศครับ
โรงแรมก็จะมีคนเข้าพักมากขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวก็จะบูมขึ้น คนก็เข้าออกจังหวัดที่มีรถไฟเพิ่ม การค้าขายดีขึ้น
หรือต่อให้กรณีขนผักที่เป็นประเด็น ถ้าขนทางรถกระบะ ใช้งบ 1,000 ผักเสียหายเป็นมูลค่า 500 เท่ากับใช้ทุนขนส่ง 1,500 บาท
แต่ถ้าขนทางรถไฟฟ้าใช้งบ 1,250 บาท ผักไม่เสียหาย เท่ากับทุนขนส่ง 1,250 บาท ... แบบนี้คนปลูกผักก็กำไรครับ และต้องจ่ายภาษีเพิ่มเพราะกำไรเพิ่ม
แล้วรัฐบาลก็บอกไว้ชัดเจนครับ ว่าเงิน 2.2 ล้านล้านบาทนี้ ไม่ได้ลงทุนแค่รถไฟความเร็วสูง
...
แต่ถ้าอ่านแค่นี้ เราอาจจะคิดว่า อ้าวว!! คนได้ผลประโยชน์มีน้อยนี่นา นี่ทำเพิ่อเอื้อต่อคนบางกลุ่มหรือเปล่า? แล้วชาวไร่ชาวนาล่ะ จะได้ด้วยหรือ?
...
จริงๆคือเราไม่ต้องสนหรอกครับ ว่าใครรายได้เพิ่ม ต่อให้คนที่ได้เงินมากขึ้นมากที่สุดคือเจ้าของห้างพารากอน คนที่จะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นก็คือเจ้าของห้างพารากอนนั่นเอง!!
และหากรายได้ของรัฐบาลจากภาษีทะลุเป้าตามข้อ C ที่ผมพิมพ์ไว้ในข้อ 2. ... ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะงบพัฒนาประเทศเพิ่ม รายได้ที่ถูกส่งไปพัฒนาชุมชนก็จะเพิ่มตาม
...
แต่!! ต้องย้ำจริงๆว่า ภาพแบบนี้จะเกิดได้ ภาษีรายปีที่เก็บได้เพิ่มจากรายได้ที่เพิ่มนั้น ... มันต้องมากกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องผ่อนรายปีของรัฐบาลนะจ้ะ ^ ^"

4. สรุป ตกลงมันดีหรือไม่ดี?
สรุปคือ มันเป็นได้ทั้งดี และไม่ดีครับ!! ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆอย่างที่เสื้อแดงว่า และไม่ได้มีแต่เรื่องร้ายๆอย่างที่เสื้อเหลืองว่า
ดีก็คือได้กำไร ไม่ดีก็คือขาดทุน

5. แลัว มันมีโอกาสจะขาดทุน หรือกำไรมากกว่ากัน
ส่วนตัวมองดังนี้
  • 5.1 ช่วงปีที่ประเทศกู้เงินมาแล้ว แล้วยังสร้างรถไฟไม่เสร็จ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆยังไม่เสร็จ = ขาดทุนล้านเปอร์เซ็นต์
  • 5.2 หลังจากสร้างรถไฟเสร็จแล้วช่วง 1-5 ปี แรก = น่าจะยังคงขาดทุนอยู่ครับ
  • 5.3 หลังจากสร้างรถไฟเสร็จแล้วปีที่ 6 เป็นต้นไป = น่าจะเริ่มได้กำไรครับ
...
ดังนั้น หากมองระยะยาว ผมว่ารถไฟความเร็วสูงมีประโยชน์ แต่มันขึ้นกับความสามารถในระยะสั้น!!
การจะให้ในระยะยาวมีประโยชน์นั้น ในระยะสั้น ต้อง "ไม่ล้ม" ครับ ทรุดได้ แต่ต้องไม่ล้ม!! เพราะถ้าถึงขั้นล้มล่ะก็ มันยืนยาก!!
ยกตัวอย่างดังนี้ครับ
ถ้าช่วงที่ประเทศขาดทุน บริหารไม่ดี ไปกู้เพิ่ม เพิ่มหนี้ พัวพันอีรุงตุงนังหนักกว่าเดิม กว่าจะฟื้นได้ คงหลายสิบปีเลยครับ
แต่ถ้าช่วงประเทศขาดทุน ประคองไว้ได้ พอเริ่มเข้าสู่ช่วงกำไร ก็จะผ่านฉลุยครับ

6. สิ่งที่เราต้องจับตาคืออะไร
ถ้าอ่านมาทั้งหมด คงจะรู้แล้ว ว่ามันจะเป็นได้ทั้งกำไรและขาดทุน แล้วเราจะต้องจับตาดูอะไรบ้าง เพื่อให้มัน "กำไร"
  • 6.1 อย่าไปกู้เพิ่มนะเว้ยยย จับตาดูไว้ กู้ตั้ง 2.2 ล้านล้าน ... อย่าไปแสล๋นกู้เพิ่มในเร็ววันล่ะ บริหารดีๆประคองเอาไว้
  • 6.2 อย่าแอบเพิ่มอัตราเก็บภาษีนะเว้ยยย
  • 6.3 จริงๆแล้วจะเพิ่มภาษีก็ได้ แต่ควรจะเพิ่มภาษีในกลุ่มคนรวย เช่นรายได้เกิน 1,000,000 บาทต่อปี เพราะโดยปกติคนที่ได้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงก็มักจะเป็นคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว ก็สมเหตุสมผลดี ... แต่ถ้าลดฐานที่ต้องเสียภาษีไปหาคนยากจนด้วย จะล้มกันทั้งประเทศ
  • 6.4 โครงการจาก 2.2 ล้านล้านบาท ทำให้มันดีๆ ถนนอย่าเหมือนที่อบต.ทำ แบบว่าสร้างเสร็จ 1 เดือน ก็ได้เวลาซ่อมแล้ว แบบนี้ไม่เอา
  • 6.5 ดูการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ดีๆครับ เพราะเท่าที่เห็นมา ไม่เคยสร้างความเจริญอะไรให้ นอกจากย่ำอยู่กับที่ ถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลควรจะตั้งหน่วยงานใหม่ มาดูแลรถไฟความเร็วสูงครับ
ก็หวังว่าพอจะมีประโยชน์ให้กับคนที่สงสัยกับเรื่องการกู้ 2.2 ล้านล้านบาทครับ
ใครรายได้ไม่พอเสียภาษี ก็ไม่ต้องไปตีโพยตีพาย พูดเท่ๆว่า "ภาษีตูนะเว้ย ตูไม่ยอมให้รัฐบาลเอาเงินตูไปถลุงหรอก" กับใครเค้าล่ะครับ -*- (อันนี้ผมเห็นเยอะ เอวังมากๆ)
ส่วนใครจ่ายภาษีเพิ่มเพราะรายได้เพิ่ม ก็ต้องเข้าใจหน่อยอ่ะนะ ว่ารายได้เพิ่มอ่ะ -*- (อันนี้ก็เห็นเยอะ บ่นว่าภาษีโดนเก็บเพิ่ม ... อยากเสียภาษีน้อยลงเพราะรายได้ลดไหมล่ะ โถ่ๆๆ)
เสื้อแดงก็เข้าใจหน่อยนะ ว่ามันอาจจะเจ๊งก็ได้ธุรกิจระดับประเทศ ไม่ใช่ง่ายๆ ... ดูแลรัฐบาลที่คุณรักไว้ให้ดีๆเถอะนะ อย่าเอาแต่โอ๋
เสื้อเหลืองก็เข้าใจหน่อยนะ ว่ามันมีช่องทำกำไรและประเทศพัฒนาได้ ... หยุดโดนคนเป่าหูเรื่องภาษีหรือหนี้สาธารณะได้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น