ทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย (Mode of transmissions of infection)

ทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผู้ไวต่อการรับเชื้อโรค แบ่งได้เป็น 5 ทางได้แก่

1. การติดเชื้อจากคนสู่คน (Person to person spread) เกิดจากการสัมผัสโดยตรง (Direct contact) เช่นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual transmitted diseases/STDs) ซึ่งโดยทั่วไปต้องมีการสัมผัสในส่วนที่เป็นเยื่อบุผิว(Mucous membrane) ส่วนโรคหิด (Scabies) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อผิวหนังที่พบบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ในชุมชนเมืองและในสภาวะที่มีความเป็นอยู่แออัด และเชื้อรา มักติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับร่างกาย ในกรณีเหา (แมลงขนาดเล็กมีสีขาวซึ่งอาศัยอยู่ตามบริเวณที่มีขนหรือผม ดูดเลือดคนและสัตว์) มีการติดเชื้อจากการสัมผัสทางตรงกับผิวหนังมากกว่าสัมผัสกับเยื่อบุผิว เหาสามารถแพร่กระจายได้ แม้จะเป็นบุคคลที่พิถีพิถัน ในกรณีที่ไม่สามารถจะรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลได้ เช่นเมื่อเกิดภาวะภัยพิบัติ (Disaster) เป็นต้น
นอกจากนี้การติดเชื้อจากคนสู่คนสามารถติดได้จากการสัมผัสโดยทางอ้อม (Indirect contact) จากอนุภาคที่แพร่ทางอากาศได้ (Droplet nuclei) ซึ่งติดอยู่ตามอุปกรณ์เครื่องใช้ เสื้อผ้า รวมไปถึงสิ่งไม่มีชีวิตที่เป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อไปสู่คนได้ (Fomites) การแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนพบบ่อยในค่ายผู้อพยพ สถานที่พักพิง โดยเฉพาะเมื่อสถานที่ดังกล่าวไม่มีสาธารณูปโภคที่เพียงพอต่อผู้อพยพ หรือผู้พักพิงเพียงพอต่อการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
การแพร่กระจายเชื้อจากอนุภาคที่แพร่ทางอากาศได้ (Droplet spread) เป็นทางแพร่กระจายโรคติดเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการไข้ในเด็ก จากการไอ จาม พูด ที่ทำให้เชื้อที่อยู่ในอนุภาคฯ (น้ำมูก น้ำลาย) ดังกล่าว แพร่กระจายไปสู่ผู้ไวต่อการรับเชื้อโรคผ่านการหายใจ หรือการกลืนเชื้อเข้าสู่ร่ายกายผ่านทางเซลล์บุผิวที่ปาก จมูก เยื่อบุตา (Conjunctiva) เชื้อบางชนิด เช่น เชื้อวัณโรคมีชีวิตอยู่ได้แม้น้ำมูก น้ำลาย ถูกทำให้แห้งสนิท (Desiccated droplet) หรือแขวนลอยอยู่ในอากาศ ในลักษณะของฝุ่นตามบ้านเรือน

2. การแพร่กระจายเชื้อโดยการผ่านสื่อนำ (Common vehicle transmission) เป็นการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคโดยผ่านสื่อนำ เช่น อาหาร น้ำ ยา สารน้ำที่ให้ทางหลอดเลือดดำ วัคซีน ซีรั่ม เลือด และผลิตภัณฑ์จากเลือดรวมไปถึงอากาศ เช่น โรคลีเจียนแนร์ (Legionaires’ disease) การแพร่เชื้อโดยการผ่านสื่อนำ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากของเชื้อก่อโรค สามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้างเพราะเชื้อสามารถอยู่รอดได้นานกว่า
ตัวอย่างที่ดีในการแพร่กระจายของเชื้อโดยการผ่านสื่อนำ ได้แก่ ไข้ไทฟอยด์ เกิดเชื้อ Salmonella typhi สามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำดื่มที่มีมลพิษ (Polluted drinking water) นม อาหารกระป๋องที่มีสภาพไม่เหมาะสมโดยมีหลักฐานการระบาดของไข้ไทฟอยด์ ในสก็อตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1964 ผลการสอบสวนการระบาดพบว่า เกิดจากการปนเปื้อนของน้ำในแม่น้ำผ่านรูเล็กๆ ของเนื้อวัวกระป๋อง ที่ผลิตในอาร์เจนตินา

3. โรคที่มีแมลงเป็นพาหะ (Vector borne disease) เป็นการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคโดยสิ่งมีชีวิต ส่วนใหญ่เป็นแมลง เชื้อก่อโรคจะมีการเติบโต และพัฒนาการในแมลง เช่น เชื้อมาลาเรีย และริคเก็ตเซีย เป็นต้น ในกรณีอื่น พบว่าแมลงวันเป็นทางขนส่ง (Transport) ของเชื้อชิเกลล่า และ/หรือเชื้อก่อโรคติดต่อทางอาหารและน้ำอื่นๆ เท่านั้น

4. โรคสัตว์สู่คน (Zoonoses) ส่วนใหญ่เชื้อก่อโรคมีผลต่อสัตว์ มนุษย์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เช่น กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง โรคพิษสุนัขบ้า โรคบรูเซลโลซีส

5. การลุกลามของเชื้อก่อโรค หรือสารพิษของเชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกาย เป็นการเข้าสู่ร่างกายของเชื้อก่อโรคหรือสารพิษจากเชื้อก่อโรคที่ไม่ได้เข้าสู่ร่างกายตามทางที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การป่วยเป็นโรคบาดทะยัก จากการที่สปอร์ของเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งโดยทั่วไปเป็นแบคทีเรียที่กินของเน่าเปื่อย (Saprophytic bacteria) เข้าสู่แผล ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระตุก และชักแข็ง หลังแอ่น โดยมากถึงตาย

ที่มา : มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ฉบับปรับปรุงใหม่ 2555, สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น